"วันฮาโลวีนนั้น"ถ้าจะแปลเอาความกันก็ได้แก่ "วันก่อนวันศักดิ์สิทธิ์" ของชาวคริสต์หรือวันสุกดิบหนึ่งวันก่อนหน้าวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกกำหนดให้ "วันออล เซนต์ส เดย์" หรือวันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นวันฉลองบรรดานักบุญต่าง ๆ ที่เริ่มกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 ดังนั้น เทศกาลฮาโลวีนนี้ชาวคาทอลิกจึงพากันเข้าโบสถ์ไปทำพิธีสวดกันเหนื่อยนานกว่าปกติสักหน่อย และในเวลาเดียวกันก็มีการร่วมฉลองแก้เหนื่อย หรือทำให้มันเหนื่อยหนักขึ้นพร้อม ๆ กันไปด้วย
คติเดิมในการจัดวันฮาโลวีนนี้มีย้อนหลังไปก่อนคริสต์กาล สมัยก่อนที่คริสต์ศาสนาจะแพร่ขยายเป็นที่นับถือกันไปทั่วยุโรปนั้น ชาวเผ่าเซลท์ที่อาศัยอยู่ในยุโรปตอนเหนือ และยุโรปตะวันตก ซึ่งนับถือดวงอาทิตย์เป็นพระเจ้าได้ถือเอาวันที่ 31 ตุลาคมเป็นวันสิ้นปีเก่าของพวกตน ที่ต้องมีพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยการละเล่นรอบกองไฟ
ช่วงปลายเดือนตุลาคมนั้น ก็ยังเป็นระยะสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวของชาวเผ่าเซลท์ครั้งกระโน้น ใบไม้ตามไพรพฤกษ์ก็ปลิดตัวจากขั้วร่วงหล่นลงกองกับพื้นดิน แสดงสัญญาณว่า ฤดูหนาวกำลังย่างใกล้าเช้ามาแล้ว และราตรีก็กำลังสยายปีกแผ่คลุมโลกยาวนานกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี จึงเป็นช่วงที่นักบวชดรูอิสของชาวเซลท์จะเริ่มทำพิธีบนบวงพระอาทิตย์ผู้เป็นเจ้าที่กำลังจะมาเยือนโลกสั้นลง พร้อมกันไปกับงานรื่นเริงปลอบใจผู้คนส่งท้าย
เวลาเดียวกันนี้ ก็เป็นยามที่บรรดาแกะและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายที่ปล่อยทิ้งให้เล็มหญ้าหากินตามท้องทุ่งถูกต้อนกลับเข้าคอก ชาวเซลท์ก็จะเริ่มปรับปรุงกฎหมายของตน และมีการต่อสัญญาเช่ากันในโอกาสนี้ด้วยและเนื่องจากพฤศจิกายนเป็นเดือนที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน ความมืดที่อ้อยอิ่งมาช้านานหลายเดือนในแถบยุโรปเหนือ ทำให้คติของความเชื่อและการฉลองปรากฏออกมาในรูปของภูตผีปิศาจ เรื่องของพ่อมดหมอผีเทพธิดาที่จะปรากฎออกมากันชุกชุมอยู่บนโลกตามบรรยากาศแห่งความมืดมัว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น