วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ปุ๋ยเคมี

เราซื้อปุ๋ยเคมี เพราะเราต้องการนำธาตุอาหารที่มอยู่ในปุ๋ยนั้นให้แก่พืช ปุ๋ยเคมีจะมีธาตุอาหารพืชอยู่มากน้อยเท่าใด ดูได้จากตัวเลขบนกระสอบปุ๋ย ซึ่งเรียกว่า สูตรปุ๋ย

สูตรปุ๋ย ประกอบด้วยตัวเลข ค่า มีขีดขั้นระหว่างตัวเลขแต่ละค่า เช่น 16-16-8 เป็นต้น ตัวเลขแต่ละค่าจะแทนความหมายดังนี้

- ตัวเลขค่าแรกคือ 16 แทนเนื้อธาตุไนโตรเจนแสดงว่า ในปุ๋ยจำนวน 100 กิโลกรัมจะมีเนื้อธาตุไนโตรเจน 16 กิโลกรัม

- ตัวเลขต่อมาคือ 16 แทนเนื้อธาตุฟอสฟอรัส แสดงว่าในจำนวน 100 กิโลกรัมจะมีเนื้อธาตุฟอสฟอรัส 16 กิโลกรัม

-ตัวเลขสุดท้ายคือ 8 แทนเนื้อธาตุโพแทสเซียม แสดงว่าในปุ๋ยจำนวน 100 กิโลกรัมจะมีเนื้อธาตุโพแทสเซียม 8 กิโลกรัม

ปุ๋ยปลอม

ปุ๋ยปลอม คือปุ๋ยที่มีธาตุอาหารพืชไม่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณที่ระบุไว้บนกระสอบ เช่น ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ถ้าวิเคราะห์แล้วมีธาตุไนโตรเจนไม่ถึง 14.4 เปอร์เซ็นต์ (14.4 = 90 เปอร์เซ็นต์ของ 16) เนื้อธาตุฟอสฟอรัสไม่ถึง 14.4 เปอร์เซ็นต์ (14.4 = 90 เปอร์เซ็นต์ของ 16) หรือเนื้อธาตุโพแทสเซียมไม่ถึง 7.2 เปอร์เซ็นต์ (7.2 = 90 เปอร์เซ็นต์ของ 8) อย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงว่าปุ๋ยสูตรนี้เป็น ปุ๋ยปลอม

ถ้าปุ๋ยกระสอบใด มีปริมาณเนื้อธาตุมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ครบปริมาณที่ระบุไว้บนกระสอบแสดงว่าปุ๋ยกระสอบนั้นเป็นปุ๋ญเคมีผิดมาตรฐาน

วิธีเก็บตัวอย่างปุ๋ย

การเก็บตัวอย่างปุ๋ยมีวิธีการปฏิบัติดังนี้

    1. เทปุ๋ยทั้งกระสอบลงบนผ้าพลาสติกที่แห้งสะอาดคลุกเคล้าให้ปุ๋ยเข้ากันเป็นอย่างดี
    2. ใช้แผ่นไม้แบ่งปุ๋ยออกเป็น 4 ส่วน
    3. นำปุ๋ย 2 ส่วนที่อยู่ตรงกันข้ามมาคลุกเคล้ากันใหม่และแบ่งอออกเป็น 4 ส่วนอีกครั้งหนึ่ง
    4. ทำซ้ำข้อ 3 จนเห็นว่าเมื่อแบ่งปุ๋ยออกเป็น 4 ส่วนแล้ว แต่ละส่วนหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ตักปุ๋ย 1 ส่วน ใส่ในถุงพลาสติกที่แห้งและสะอาด
    5. เขียนรายละเอียดของตัวอย่างปุ๋ย ได้แก่ สูตร ตราเลขทะเบียน ผู้ผลิตหรือผู้นำส่ง สถานที่ผลิต ใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ แล้วใส่ลงในถุงตัวอย่างปุ๋ยพร้อมรัดปากถุงให้แน่น
    6. ส่งตัวอย่างปุ๋ยไปยัง สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อตรวจสอบต่อไป

การตรวจปุ๋ย

ปุ๋ยปลอมตรวจสอบได้ยากมากด้วยตาเปล่า หรือเพียงการสัมผัส การตรวจสอบที่ให้ได้ผลแน่นอนต้องทำโดยวิธีการทางเคมีในห้องปฏิบัติการ

เครื่องมือตรวจสอบปุ๋ยปลอมอย่างง่ายสำหรับการตรวจสอบในภาคสนามนั้น ใช้สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ให้ผลเพียงคร่าวๆ และไม่สามารถนำผลการตรวจสอบมาใช้เพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายได้

เมื่อสงสัยว่าเป็นปุ๋ยปลอม ควรเก็บตัวอย่างปุ๋ยตามวิธีการที่แนะนำอย่างเคร่งครัด แล้วส่งไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัด ในท้องถิ่นเพื่อส่งให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบต่อไป

คำแนะนำในการเลือกซื้อปุ๋ย

ในการเลือกซื้อปุ๋ยมีคำแนะนำดังนี้

1.ก่อนซื้อควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเพื่อตัดสินใจว่า ควรจะซื้อปุ๋ยสูตรใด ตราใด จำนวนเท่าใด

2. ควรซื้อโดยการรวมกลุ่มกันซื้อจากบริษัทที่ไว้ใจได้ โดยให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ประสานงานให้

3. หากจำเป็นต้องการซื้อรายย่อย ควรดำเนินการดังนี้

3.1 บอกสูตร ตรา และจำนวนที่ต้องการแก่ผู้ขาย

3.2 ตรวจสอบข้อความบนกระสอบปุ๋ยว่าเป็นปุ๋ยชนิดใดต้องการหรือไม่

3.3 ตรวจสอบสภาพกระสอบว่า ใหม่และเรียบร้อยไม่มีรอยฉีกขาด หรือรอยเย็บใหม่

3.4 ตรวจสอบดุว่าแต่ละกระสอบมีน้ำหนักครบ 50 กิโลกรัมหรือไม่

3.5 ขอเอกสารกำกับปุ๋ย และใบเสร็จรับเงินจากผู้ขายด้วย

โทษของการผลิตและการจำหน่ายปุ๋ยปลอม

การผลิตหรือจำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอม มีโทษทั้งจำทั้งปรับดังนี้

มาตรา 62 ” ผู้ใดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 30 (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท

มาตรา 63 ” ผู้ใดขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งปุ๋ยเคมีปลอมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 30 (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปี ถึง สิบปี และปรับตั้งแต่ สามหมื่นบาท ถึง หนึ่งแสนบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น